วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระต่ายขาเดียว

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน
วิธีเล่น
ขีดเส้นแบ่งเขตบนพื้น และมีเขตจำกัดเส้นออกไว้ด้วย แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน ตกลงกันว่าใครจะเป็นกระต่ายก่อน กลุ่มที่เป็นกระต่ายจะคิดคำขึ้นหนึ่งคำ ให้มีพยางค์เท่ากับจำนวนคนในหมู่และจำต้องกำหนดพยางค์ให้แต่ละคนด้วย เมื่อคิดคำได้แล้วหมู่ที่เป็นฝ่ายเล่นทั้งหมดก็จะเป็นผู้เลือกว่า จะเอาพยางค์ใด ฝ่ายกระต่ายคนที่มีพยางค์ตรงกับที่โดนเลือกก็จะวิ่งกระโดดขาเดียวให้เร็วที่สุด และไล่จับแตะคนในฝ่ายเล่น ถ้าคนใดโดนจับหรือถูกตัวกระต่ายก็ต้องออกจากการเล่น แต่ถ้ากระต่ายเปลี่ยนขาหรือขาแตะพื้นจะต้องเปลี่ยนเป็นกระต่ายตัวใหม่ที่ฝ่ายเล่นจะเลือก เมื่อฝ่ายเล่นถูกไล่ตีจนหมดแล้วก็ถือว่าแพ้ ต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายบ้าง
ตัวอย่างการเล่น
ฝ่ายกระต่ายมีสมาชิก 4 คน ก็คิดคำ 4 พยางค์ เช่น ทุเรียนหมอนทอง คนแรกเป็น ทุคนที่2 เป็นเรียนคนที่3 เป็นหมอนคนที่4 เป็นทองเมื่อฝ่ายเล่นเรียกทองคนที่เป็นทองต้องกระโดดขาเดียวไล่จับคนฝ่ายเล่น ถ้าเท้าตกถึงพื้นฝ่ายเล่นจะเลือกคนใหม่อีก จนกว่าจะหมด ถ้าฝ่ายกระต่ายแตะได้ก่อน หรือฝ่ายเล่นวิ่งออกนอกเส้นแบ่งเขต จะหมดสิทธิ์เป็นฝ่ายเล่นต้องมาเป็นฝ่ายกระต่ายแทน













ชักกะเย่อ

    ผู้เล่น แบ่งออกเป็นสองฝ่าย มีจำนวนเท่ากัน (นอกจากจะตกลงกันเป็นพิเศษ เช่น ฝ่ายหนึ่งชายฝ่ายหนึ่งหญิง จะให้ชายมีจำนวนน้อยกว่าหญิงก็ได้)
 วิธีเล่น
 นำเชือกเส้นใหญ่ที่มีความแข็งแรงพอจะทานกำลังผู้เล่นทั้งสองฝ่ายที่จะดึงเชือกนั้นมาวาง มีเส้นเขตกลาง ซึ่งจะวางเชือกให้กึ่งกลางตรงเส้นพอดี แล้วให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจับสลาก หรือไม้สั้นไม้ยาว ว่าใครจะอยู่ด้านไหนเมื่อได้สลากแล้วผู้เล่นจะไปยืนประจำที่ข้างเชือกที่วาง กะระยะให้ห่างกัน พอให้ไม่ ชนกันได้ขณะเอนตัวดึงเชือก เมื่อวางระยะดีแล้ว ผู้เล่นจะดึงเชือกให้สูงพอเอว ผู้ตัดสินจะไปยืนตรงเส้นเขตกลาง (ซึ่งเป็นเส้นชัยด้วย) เมื่อผู้ตัดสินให้สัญญา-ณ ทั้งสองฝ่ายจะลงมือดึงเชือกพยายามให้อีกฝ่ายหนึ่งลู่ไปในทิศทางของตนแต่ละฝ่ายมีผู้ให้สัญญาณเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน ผู้ที่อยู่ต้นเชือกและหางเชือกเป็นคนสำคัญ ยิ่งในระหว่างดึงนั้น ถ้าผู้ใดเสียหลักยันพื้นไม่อยู่ก็จะเสียกำลัง ความสนุกอยู่ที่ผู้ให้สัญญาณและผู้เล่นที่มีท่าทางสีหน้าต่างๆ กัน การแพ้ชนะอยู่ที่ฝ่ายไหนสามารถดึงอีกฝ่ายหนึ่งให้ลู่ตามไปถึงเส้นชัยจะเป็นฝ่ายชนะ การเล่นชนิดนี้ฝึกความพร้อมเพรียง ความอยู่ในระเบียบวินัย การทรงตัวและ ออกกำลังกายทั้งแขนและขาการละเล่นแบบนี้ในภาคเหนือเรียกว่า "ยู้ส้าว" มีวิธีการเล่นเหมือนกันกับภาคกลางแต่ภาคเหนือมีคำร้องประกอบด้วย  


ลิงชิงเสาหรือลิงชิงหลัก

 จากหลักฐานในวรรณคดี เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "ลิงชิงเสา" ต่อมาไม่ได้เล่นเฉพาะใต้ถุนบ้านเท่านั้น นำไปเล่นกลางแจ้ง ปักหลักตามจำนวนคนเล่น แต่ให้หลักมีน้อยกว่าจำนวนคนหนึ่งคน
 วิธีเล่น
ใช้เสาเรือนเป็นหลัก ผู้เล่นอย่างน้อย ๓ คน หลักมีจำนวนน้อยกว่าคนเล่นหนึ่งคน จะมีคนหนึ่งที่ไม่มีหลักจับ ผู้เล่นทั้งหลายสมมุติเป็นลิง วิ่งเปลี่ยนหลักกันจากหลักโน้นไปหลักนี้ ลิงที่ไม่มีหลักต้องคอยชิงหลักให้ได้ ถ้าชิงหลักของใครได้ คนนั้นต้องเป็นลิงหลักลอย คอยชิงหลักต่อไป การเล่นชนิดนี้ฝึกความสังเกต ความว่องไว ความมีไหวพริบ และเป็นการออกกำลังกายอย่างดี การเล่นลิงชิงหลักนี้มีในภาคใต้ บางทีก็เรียกว่า "หมาชิงเสา" ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า "จ้ำหนูเนียม" วิธีเล่นแตกต่างออกไป คือมีบทร้องประกอบว่า "จ้ำหนูเนียมมาเตรียมถูกหลัก" ผู้ที่ไม่มีหลักเรียกว่า คนจ้ำ จะร้องบทร้องบทนี้แล้วชี้ไปยังหลักต่างๆ ถ้าคำว่า "หลัก" ไปตกที่คนใด คนนั้นต้องรีบเปลี่ยนเสา คนอื่นจะวิ่งไปจับหลักและเสาต้นอื่น คนจ้ำก็ต้องพยายามแตะตัวคนวิ่งให้ได้ ถ้าใครถูกแตะตัวก็ต้องเป็นคนจ้ำแทน



จ้ำจี้มะเขือเปาะ

จำนวนผู้เล่น อย่างน้อย 2-3 คนขึ้นไป
วิธีการเล่น
ให้ผู้เล่นนั่งล้อมวงกัน ยื่นมือทั้งสองข้างออกมา และคว่ำลงพื้น พร้อมกางนิ้วมือออก จากนั้นให้ผู้เล่นคนหนึ่งยื่นมือมาข้างเดียว และใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้าง ชี้ที่นิ้วของทุกคนทีละนิ้ว วนไปเรื่อยๆ รอบวง และร้องเพลง "จ้ำจี้มะเขือเปาะ ถ้าเพลงจบที่นิ้วไหนของใคร จะต้องพับนิ้วนั้นออก เล่นใหม่ จนกระทั่งไม่มีนิ้วให้นับ ใครเหลือนิ้วเป็นคนสุดท้าย ถือว่าชนะ !

เพลง จ้ำจี้มะเขือเปาะ
จ้ำจี้มะเขือเปาะ กะเทาะหน้าแว่น
พายเรือโอนแอ่น อาบน้ำท่าไหน
อาบน้ำท่าวัด เอากระจกที่ไหนมาส่อง
เยี่ยมๆ มองๆ นกขุนทองร้อง "ฮูก


 

งูกินหาง


จำนวนผู้เล่น : 8-10 คน
วิธีเล่น    แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ 1 จะต้องเป็น
พ่องู1 คน ฝ่ายที่ 2 มี แม่งู1 คน ที่เหลือเป็นลูกงูซึ่งผู้เล่นเป็นลูกงูจะต้องเกาะเอวผู้เล่นเป็นแม่งู จากนั้น พ่องูเริ่มถามว่า แม่งูเอ๋ยแม่งูและลูกงูก็ร้องตอบว่า เอ๋ยพอช่วงท้ายพ่องูถามว่า กินหัว กินหางแม่งูตอบว่า กินกลางตลอดตัวผู้เป็นพ่องูจะไล่จับลูกงูจากปลายแถว ฝ่ายแม่งูจะต้องกางมือเพื่อป้องกันลูก หากลูกงูตัวใดถูกพ่องูดึงจนหลุดออกจากแถวไป ก็จะต้องออกจากการเล่น ผู้เล่นที่เหลือก็เริ่มเล่นกันอีกจนกว่าลูกงูจะถูกจับจนหมดวิธีเล่น ให้แบ่งผู้เล่นเป็น "พ่องู" และ "แม่งู" คนที่เหลือเป็น "ลูกงู" เกาะเอวแม่งูเป็นแถวยาว เริ่มต้นเล่น ด้วยการร้อง
พ่องู ร้อง "แม่งูเอ๋ย"
แม่งู ร้อง "เอ๋ย"
พ่องู ร้อง "กินน้ำบ่อไหน"
แม่งู ร้อง "ย้ายไปก็ย้ายมา"
พ่องู ร้อง "แม่งูเอ๋ย"
แม่งู ร้อง "เอ๋ย"
พ่องู ร้อง "กินหัวกินหาง"
แม่งู ร้อง "กินกลางตลอดตัว" หรือ "กินหางตลอดหัว" หรือ "กินหัวตลอดหาง"
จากนั้นพ่องูจะพยายามจับลูกงู แต่แม่งูก็จะกางแขนออกป้องกันลูกงู และวิ่งไล่กันไปมา จุดสำคัญลูกงูจะต้องห้ามแตกแถว


ม้าก้านกล้วย

        การเล่นม้าก้าน กล้วยทำให้เด็กสนุกสนาน เกิดจินตนาการ ได้ออกกำลังกาย โดยเด็กจะใช้ก้านกล้วยมาทำเป็นหัว หู และหางม้า แล้วสมมติตัวเอง ว่าเป็นคนขี่ม้าพาวิ่ง ม้าก้านกล้วยเป็นการเล่นพื้นบ้านของเด็กที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ที่ถือเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้เด็กๆ ได้มาทำ กิจกรรมร่วมกัน
วัสดุอุปกรณ์
1. ก้านกล้วย
 2. มีด

3. ไม้กลัด
4. เชือก หรือปอ หรือเชือกฟาง วิธีทำม้าก้านกล้วย
ตัวม้า ตัดก้านกล้วยขนาดใหญ่มาหนึ่งก้าน ให้มีความยาวประมาณ1 เมตรขึ้นไป ใช้มีดคมๆ เลาะ ใบกล้วยถึงปลายเอา            ส่วน กลางก้านกล้วยเป็นลำตัว
หางม้า ปลายก้านกล้วยเหลือส่วนที่เป็นใบตองไว้เล็กน้อย เพื่อสมมติเป็นหางม้า
หัวม้า ก้านกล้วยตรงโคนที่มีขนาดใหญ่ ใช้มีดปาดแฉลบทั้งสองด้าน ความยาวประมาณ 10
ซนติเมตร หักให้เป็นคอม้ามีหู สองข้างตั้งชันแล้วใช้ไม้กลัด แทงตรงก้านหัวให้แน่นเพื่อเป็นหัวม้า
บังเหียน ใช้เชือก ให้มีความยาวพอประมาณ ผูกตรงหัวและตรงท้าย สำหรับสะพายหรือไว้คล้องไหล่ผู้เล่น กติกา  ผู้ที่วิ่งถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ
วิธีเล่น
 นำก้านกล้วยที่เลาะใบตองออกแล้วเหลือใบตองติดปลายไว้เล็กน้อย เฉือนด้านข้างของโคนทั้ง 2 ข้างกะระยะให้ห่างจากโคนประมาณ ๒ นิ้ว ไม่ให้ขาดจากกัน ส่วนกลางหักลงมาเป็นหน้าม้า ส่วนที่ถูกเฉือนจะเป็นหูม้า นำไม้แหลมแทงยึดหัวม้ากับไว้ ใช้เชือกผูกคล้องคอม้าสำหรับดึงเวลาขี่ เด็กจะขี่ม้าก้านกล้วยเล่นและจินตนาการว่าได้ขี่ม้าจริง ๆ โดยทำท่าวิ่งเลียนแบบม้าวิ่งไปมาหรือขี่วิ่งแข่งกันประโยชน์
1.การทำท่าเหมือนม้า ทำให้เด็กมีจินตนาการ และ กล้าแสดงออก
2.เป็นการออกกำลังกายอย่างดี
3.รักษาประเพณีพื้นบ้านของไทย












การละเล่นของไทย

การละเล่นของไทยนั้นมีหลายชนิดซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้งไทยซึ่งมีหลายชนิดเช่น เดินกะลา หมากเก็บ ว่าวพื้นบ้าน รีรีข้าวสาร เป็นต้น
การละเล่นพื้นบ้านมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษเราทุกคนอาจเคยเล่นมาแล้วการละเล่นพื้นบ้านเป็นการละเล่นที่สนุกสนานและไม่เครียดและเป็นการละเล่นที่ได้ความรู้ เราควรอนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษาและการละเล่นพื้นบ้านก็จะไม่หายไปจากประเทศของเราเด็กๆในอดีตมีอิสระในการละเล่น สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ โดยคิดกฎกติกาได้เอง การละเล่นของเด็กไทยในอดีต ทั้งที่เล่นกลางแจ้ง และในร่ม โดยส่วนใหญ่เลียนแบบจากการทำงานและอาชีพของผู้ใหญ่ หรือคิดการละเล่นใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในหมู่เพื่อนกันเองโดยเฉพาะการละเล่นของเด็กๆ หลายอย่างสามารถเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยที่เด็กรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่เบื่อ วัสดุธรรมชาติอย่างเช่น ต้นกล้วย หลังจากนำใบตองมาห่อของแล้ว ก้านกล้วยก็สามารถนำมาประดิษฐ์เป็น ม้าก้านกล้วย ให้เด็กๆนำมาวิ่งเล่นได้ด้วย
ความเป็นมา
แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยดำเนินชีวิตอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติแวดล้อม เมื่อยังเป็นทารกนอนเปล เด็กน้อยจะนอนดูพวงปลาตะเพียนที่สานด้วยใบลานย้อมสี เมื่อต้องแสงตะวัน เกล็ดปลาก็เป็นประกายวาววับ ลูกปลาตัวน้อยๆ แกว่งไกวตามแรงลม เด็กก็ จะยื่นมือไขว่คว้าอย่างเพลิดเพลิน เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ผู้ใหญ่ให้นั่งเล่นอยู่บนบ้าน ไม่ออกไปไกลตาเกินกว่าจะดูแลได้ เด็กได้เล่นกับพี่น้องวัยเดียวกัน เปลี่ยนมือ เปลี่ยนจังหวะการตบ เรียกว่า เล่นตบแผละเด็กๆ ได้ฝึกคิดเปลี่ยนท่าต่างๆ ได้ฝึกการเคลื่อนไหวมือ แขนและสายตา ได้ยินเสียงและจังหวะที่เร้าใจ ใครพลาดดู ตามไม่ทันก็จะแพ้ ถ้ามีอุปกรณ์การเล่น เช่น เลิกเส้นเล็กๆ ขนาดยาวพอควรนำมาผูกเป็นวงแล้วใช้นิ้วคล้องไขว้เป็นรูปต่างๆ เด็กที่ฉลาดจะไขว้เส้นเชือกได้สวย คู่แข่งขันจะคลายวงออกไม่ได้ การเล่นไขว้เชือกช่วยให้เด็กได้ฝึกการ -คิด และพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมะขาม เป็นของเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อนชอบเล่น เด็กสองคนนั่งกับพื้นหันหน้าเข้าหากัน ขีดวงกลมเล็กๆ เอาเมล็ดน้อยหน่าทอดลงในวงกลมเอาใบไม้หรือกระดาษชิ้นเล็กๆ พันเป็นช้อน ตักเมล็ดน้อยหน่า หรือเมล็ดมะขามทีละ ๑ เมล็ด หรือทีละ ๒ หรือ ๓ เมล็ด แล้วแต่กติกา ใครตักได้หมดโดยไม่ไปเขี่ยเมล็ดอื่นๆ ให้เคลื่อนไหวเลย คนนั้นชนะการเล่นอย่างนี้เรียกว่า การเล่นอีกตัก เมื่อเด็ก ๆ ลงมาเล่นที่ลานบ้านหรือที่หาดทราย เด็กจะเล่นตี่จับต้องเต มอญซ่อนผ้า โพงพาง รีรีข้าวสาร เล่นขายของหรือหม้อข้าวหม้อแกง ชีวิตเด็กไทยจึงสนุกสนาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่และเพื่อน พี่น้อง มีความอบอุ่นใจและได้ เรียนรู้กฎเกณฑ์ การอยู่ร่วมกัน คนไทยมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน การเล่นธรรมดาที่มีเพียงอุปกรณ์และวิธีการเล่นดูจะไม่สนุกเท่าที่ควร ผู้ใหญ่จึงคิดถ้อยคำ ร้อยกรองเป็นบทร้อง ท่วงท่ารำ จัดจังหวะการเดิน การเต้นให้งดงามยิ่งขึ้น การ เล่นจึงกลายเป็นการละเล่น ที่มีบทเจรจา บทร้องท่ารำเข้ามาประกอบ เช่น งูกินหาง แม่ศรี โยนชิงช้า กระอั้วแทงควายหรือกระตั้วแทงเสือเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ มี การละเล่นรื่นเริงตามประเพณี เช่น เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์ เล่นเพลง แห่ดอกไม้ เมื่อไปทำบุญที่วัด เล่นเพลงพิษฐาน เพลงเรือ เพลงลอยกระทง เพลงแห่นาค เป็นต้น บางครั้งมีการเล่นทายปัญหา ซึ่งเรียกว่าปริศนาคำทาย ถ้อยคำและปัญหาที่ทายส่วนใหญ่ฉายภาพชีวิตของคนไทย และสภาพธรรมชาติแวดล้อม
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไป ย่างเข้าฤดูร้อน ลมว่าวพัดแรง คนไทยก็จะเล่นว่าว ซึ่งมีศิลปะของการเล่นที่น่าสนใจมาก การเตะตะกร้อก็มีวิธีการและท่วงท่าที่น่าดู พอถึงเดินสิบสอง น้ำนองตลิ่ง การเล่นเพลงทั้งที่เป็นเพลงเรือ และการร้องรำบนฝั่งน้ำ ล้วนมีความไพเราะงดงามตามเอกลักษณ์ ของไทย ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนามาร่วมกันเกี่ยวข้าวอย่างสนุกสนาน จึงมีการรำเหย่อย เต้นกำรำเคียว เล่นเพลงเกี่ยวข้าว เป็นต้น  การเล่นและการละเล่นของไทย จึงเป็นสมบัติทิพย์ทางวัฒนธรรมไทย ที่มีศิลปะทั้งทางด้านท่าทางเคลื่อนไหว วิธีการ รูปแบบ ชั้นเชิงการใช้ภาษา อารมณ์สนุก และความรักใคร่กลมเกลียวกับฉันท์พี่น้อง รูปแบบของการเล่นและการละเล่นของไทย อาจมีความแตกต่างกันบ้างตามลักษณะของท้องถิ่น และประเพณี สมควรที่เยาวชนทั้งหลายจะสนใจศึกษาเพื่อสามารถธำรงรักษาไว้สืบไป
ความหมาย
คำว่า "การเล่น" หมายถึง การกระทำเพื่อสนุกหรือผ่อนอารมณ์ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า play หรือ game ซึ่งมีความหมายต่างกัน
คำว่า "play" มีผู้ให้ความหมายว่าเล่นสนุกเป็นการเล่นคนเดียวก็ได้ หลายคนก็ได้ เล่นโดยสมัครใจไม่มีใครบังคับ
คำว่า "game" มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย สรุปได้ว่าเป็นการเล่นที่มีกฎเกณฑ์บังคับผู้เล่นต้องเล่นตามกฎเกณฑ์นั้น การเล่นของไทยมีความหมายกว้างกว่าเพราะมีลักษณะร่วมอยู่ในความหมายของทั้งสองคำ คำว่า "การละเล่น" เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย บางท่านกล่าวว่าเป็นการปรับเสียงคำว่า "การเล่น" ให้ออกเสียงง่ายขึ้น ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร ให้ความหมายกว้างออกไปถึงการเล่นเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจหลังจากประกอบกิจประจำวัน และการเล่นในเทศกาลท้องถิ่นหรือในงานมงคลบ้าง อวมงคลบ้าง เช่น เพลงพื้นเมือง ละคร ลิเก ลำตัด หุ่น หนังใหญ่ ฯลฯ ด้วยเหตุที่การละเล่นมีความหมายกว้างขวาง ดังกล่าว
การละเล่นของไทย หมายถึง การเล่นตั้งเดิมของเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อความบันเทิงใจทั้งนี้เป็นการเล่นที่มีกติกาหรือไม่มีกติกา ไม่มีบทร้องประกอบหรือมีบทร้องประกอบให้จัง-หวะ บางทีก็มีท่าเต้น ท่ารำประกอบ เพื่อให้งดงามและสนุกสนานยิ่งขึ้น ทั้งผู้เล่นและผู้ชมมีส่วนร่วมสนุก (ไม่ครอบคลุมไปถึงการละเล่นที่เป็นการแสดงให้ชมโดยแยกผู้เล่นและผู้ดูออ กจากกันด้วยการจำกัดเขตผู้ดู หรือการสร้างเวทีสำหรับผู้เล่น เป็นต้น)
ประโยชน์
การละเล่นของไทยเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานก็ว่ามีมาแต่กรุงสุโขทัย แต่ที่ปรากฏในบทละครเรื่องมโนห์ราครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ การเล่นว่าว ลิงชิงเสา ปลาลงอวน บทละ- ครเรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การละเล่นของไทยแต่เดิมมาและบางอย่างยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ หากมีการสืบทอดวิธีเล่นบางอย่างที่ดีงามนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยก็จะเป็นประโยชน์ แก่สังคมไทย ไม่เฉพาะแต่การพัฒนาบุคคลเท่านั้น ยังช่วยพัฒนาสังคมอีกด้วย การละเล่นต่างๆ ย่อมจะแตกต่างกันไปตามวัยของบุคคลและตามสภาพท้องถิ่น การละเล่นบางอย่างไม่สามารถจะชี้ขาดลงไปได้ว่าเป็นการละเล่นของเด็กหรือของผู้ใหญ่ เช่น การเล่นว่าว การเล่นช่วงชัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากวิธีการเล่นต่าง ๆ จะเห็นได้ ว่าการละเล่นของไทยมีคุณค่าในทางเสริมสร้างพลานามัย ประเทืองปัญญาช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ฝึกจิตใจให้งดงามมีความสามัคคี และช่วยสร้างคนดีให้สังคม การละเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด การละเล่นทำให้มนุษย์ได้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างกำลังกายให้แข็งแรง ลับสมองให้มีสติปัญญาแหลมคม มีจิตใจเบิกบานสนุกสนานร่าเริง ทั้งยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีขึ้นในหมู่มวลมนุษย์ การละเล่นมีมาแต่สมัยใดไม่มีใครกำหนดแน่นอนได้เพียงแต่สันนิษฐานกันตามประวัติศาสตร์เท่านั้น